เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [3. นิสสัคคิยกัณฑ์] 1. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ 11 นิทานวัตถุ
1. ปัตตวรรค

สิกขาบทที่ 11
ว่าด้วยการขอผ้าห่มหนาในฤดูหนาว

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[783] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาเป็นพหูสูต เป็น
นักพูด แกล้วกล้า สามารถกล่าวธรรมีกถา สมัยนั้นในฤดูหนาว พระเจ้าปเสนทิโกศล
ทรงผ้ากัมพลราคาแพงเข้าไปหาภิกษุณีถุลลนันทาถึงที่อยู่ ทรงอภิวาทแล้วประทับนั่ง
ณ ที่สมควร ภิกษุณีถุลลนันทาชี้แจงให้พระเจ้าปเสนทิโกศลผู้ประทับนั่ง ณ ที่สมควร
เห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลผู้ซึ่งภิกษุณีถุลลนันทา
ชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบ
ชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้ตรัสกับภิกษุณีถุลลนันทาดังนี้ว่า “แม่เจ้า
ท่านต้องการสิ่งใดก็โปรดได้บอกเถิด”
ภิกษุณีถุลลนันทานั้นทูลว่า “ขอถวายพระพร ถ้าพระองค์มีพระราชประสงค์
จะพระราชทาน ก็ขอได้โปรดพระราชทานผ้ากัมพลผืนนี้เถิด”
ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลถวายผ้ากัมพลผืนนั้นแก่ภิกษุณีถุลลนันทา เสด็จ
ลุกจากที่ประทับนั่งทรงอภิวาทภิกษุณีถุลลนันทาแล้วทำประทักษิณเสด็จจากไป
พวกชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พวกภิกษุณีเป็นคนมักมาก
ไม่สันโดษ ไฉนจึงออกปากทูลขอผ้ากัมพลจากพระราชาเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินพวกชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทาจึงออกปาก
ทูลขอผ้ากัมพลจากพระราชาเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุ
ทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุจึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :118 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [3. นิสสัคคิยกัณฑ์] 1. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ 11 สิกขาบทวิภังค์
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาออกปากทูล
ขอผ้ากัมพลจากพระราชา จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทา
จึงออกปากทูลขอผ้ากัมพลจากพระราชาเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิ
ได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[784] ก็ภิกษุณีเมื่อจะขอผ้าห่มหนา พึงขอได้เพียงราคา 4 กังสะ1 เป็น
อย่างมาก ถ้าขอเกินกว่านั้น ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์2
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ

สิกขาบทวิภังค์
[785] ที่ชื่อว่า ผ้าห่มหนา ได้แก่ ผ้าห่มชนิดหนึ่งที่ใช้ห่มในฤดูหนาว3
คำว่า เมื่อจะขอ คือ เมื่อจะออกปากขอ
คำว่า พึงขอได้เพียงราคา 4 กังสะ คือ พึงขอผ้าที่มีราคา 16 กหาปณะได้
คำว่า ถ้าขอเกินกว่านั้น ความว่า ภิกษุณีออกปากขอผ้าราคาเกินกว่านั้น
ต้องอาบัติทุกกฏในขณะที่ขอ ผ้านั้นเป็นนิสสัคคีย์เพราะได้มา คือ เป็นของจำต้อง
สละแก่สงฆ์ แก่คณะหรือแก่ภิกษุณีรูปเดียว
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีพึงสละผ้าที่เป็นนิสสัคคีย์อย่างนี้

เชิงอรรถ :
1 1 กังสะ เท่ากับ 4 กหาปณะ, 4 กังสะ จึงเท่ากับ (4x4) 16 กหาปณะ (กงฺขา.อ. 362)
2 หมายความว่า ภิกษุณีขอจากคนอื่น ต้องอาบัตินิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ แต่ถ้าขอจากสหธรรมิก ญาติและ
คนปวารณา แม้จะราคาเกิน 4 กังสะ ก็ไม่ต้องอาบัติ (กงฺขา.อ. 362)
3 หมายถึงผ้าห่มเนื้อหนาสำหรับห่มในฤดูหนาว (สีตกาเล หิ มนุสฺสา ถูลปาวุรณํ ปารุปนฺติ -ปาจิตฺยาทิ-
โยชนา 784/158 ม.)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :119 }